ศูนย์รวมหินธรรมชาติ,หินสังเคราะห์,กระเบื้อง,ไม้ปูพื้น พร้อมบริการติดตั้ง

TH | EN
MENU

งานติดตั้งกระเบื้อง

วิธีการปูกระเบื้อง

 
วิธีการปูกระเบื้องมีหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นผิวที่จะติดตั้ง และความชำนาญของช่างที่จะติดตั้งด้วยซึ่งวิธีการหลักๆมี2วิธี
 
1 การติดตั้งโดยใช้ปูนทราย เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังไม่ได้ทำการปรับระดับ และ ขัดมัน
1.1 ตรวจสอบกระเบื้องก่อนทำการปู ตรวจเช็คชนิดของกระเบื้อง สีของกระเบื้องสีเดียวกันหรือไม่ ความโก่งอยู่ในค่าที่สามารถปูได้หรือไม่ หากพบสิ่งที่ผิดปกติให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายทันที
1.2 ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะทำการปูกระเบื้อง
1.3 ควรปูกระเบื้องเว้นร่องยาแนว 2-3 มม.ตามค่ามาตรฐานของโรงงานผู้ผลิต
1.4 ควรปูกระเบื้องให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยสังเกตจากลูกศรด้านหลังกระเบื้อง
1.5 ตรวจเช็คระดับโดยให้มีความหนาสำหรับเทส่วนผสมของปูนทราย เพื่อปูกระเบื้องอยู่ระหว่าง3-5ซม. (ไม่รวมความหนาของกระเบื้อง) ถ้ามากหรือน้อยกว่าให้ทำการแก้ไข (ความหน้าของปูนทราย อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อจำกัดของพื้นที่ ซึ่งอยู่ในดุลพินิจของช่างปูกระเบื้อง)
1.6 ผสมปูนทรายน้ำในอัตราส่วนน้ำ 1 ลิตร ปูน 4 กิโลกรัม และทราย 8-10 กิโลกรัม (ปริมาณน้ำสามารถปรับลดได้หากทรายมีความชื้นมาก)
1.7 นำส่วนผสมดังกล่าวเทลงบนพื้นที่จะติดตั้งกระเบื้องทำการปรับให้ได้ระดับก่อนที่จะนำกระเบื้องลงติดตั้ง
1.8 ปูตามแนวลูกศร ควรปูกระเบื้องไปในทิศทางเดียวกัน ตามแนวลูกศร หรือ สัญลักษณ์โลโก้ด้านหลังของกระเบื้องใช้กาวซีเมนต์ผสมน้ำทาบนหลังกระเบื้อง หรือใช้น้ำยาประสานปูนทาบนหลังกระเบื้อง ยกกระเบื้องวางบนปูนที่เตรียมไว้ใช้ค้อนยางเคาะเบาๆ ให้ได้ระดับ
1.9 ทำการจัดวางแผ่นกระเบื้องและแนวรอยต่อให้อยู่ในแนวเดียวกันเว้นร่องยาแนวอย่างน้อย 2-3ซม.(ควรใช้ Spacer อุปกรณ์จัดแนวกระเบื้อง)เมื่อปูทั้งหมดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทิ้งให้ปูนเซ็ทตัวประมาณ 72 ชั่วโมง ก่อนทำการยาแนว
1.10 หลังปูนเซ็ทตัวให้ทำการยาแนวเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกตกค้างตามร่องกระเบื้อง โดยทำความสะอาดรอยต่อของกระเบื้องด้วยการใช้เหล็กแหลมหรือแปรงแข็ง ต่อจากนั้นให้ใช้วัสดุยาแนวอัดให้เต็มแน่นเพื่อไม่ให้มีฟองและโพรงอากาศ หากมีเศษยาแนวล้นออกมาให้เช็ดออกด้วยผ้าหมาดๆก่อนที่ปูนยาแนวจะแข็งตัว
ข้อควรระวัง
- ไม่ควรติดตั้งกระเบื้องโดยวิธีแบบซาลาเปา หรือปูนเปียก เนื้องจากกระเบื้องมีน้ำหนักมากอาจทำให้เกิดการยุบตัวไม่เท่ากัน และ มีโพรงอากาศเป็นช่องว่างใต้พื้นกระเบื้องมีผลทำให้กระเบื้องหลุดร่อน และ แตกง่าย
หมายเหตุ
- ส่วนผสมของปูน  ซีเมนต์กาว น้ำยาประสานปูน และ วัสดุยาแนว โปรดสอบถามบริษัทผู้ผลิตเพื่อป้องกันการผิดพลาดภายหลัง
- เพื่อรักษาความสวยงามของกระเบื้องหลังทำการติดตั้งเสร็จควรคลุมด้วยพลาสติก หรือ กระดาษลูกฟูก เพื่อป้องกันรอยขีดข่วนและคราบสกปรก
- ก่อนเปิดใช้งานควรทำความสะอาดคราบ(WAX) โดยใช้ผงขัดแวกซ์ ปูนขาว หรือผงยิปซั่ม ล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำยาทำความสะอาดที่เป็นกลาง ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของกรดต่างๆเช่น กรดไฮคลอริก(กรดเกลือ)กรดไนตริก(กรดดินประสิว)กรดซัลฟิวริก(กรดกำมะถัน)กรดไฮฟลูออริก(กรดกัดกระจก)และไม่ควรใช้สารเคมีประเภทไอโซโพรพิล(แอลกอฮอลล์)ในการทำความสะอาด
 
2 การติดตั้งโดยใช้กาวซีเมนต์
เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สะดวกรวดเร็ว เหมาะสำหรับพื้นที่ที่ปรับระดับเรียบร้อยแล้วเพราะกาวซีเมนต์ก็คือส่วนประกบของปูนซีเมนต์ปอร์คแลนด์ ทราย และวัสดุผสมพิเศษอื่นๆ
2.1 ตรวจสอบกระเบื้องก่อนทำการปู ตรวจเช็คชนิคของกระเบื้อง สีของกระเบื้องสีเดียวกันหรือไม่ ความโก่งอยู่ในค่าที่สามารถปูได้หรือไม่ หากพบสิ่งที่ผิดปกติให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายทันที
2.2 ทำความสะอาดพื้นที่ที่จะทำการปูกระเบื้อง
2.3 ควรปูกระเบื้องเว้นร่องยาแนว 2-3 มม.ตามค่ามาตรฐานของโรงงานผู้ผลิต
2.4 ควรปูกระเบื้องให้ไปในทิศทางเดียวกัน โดยสังเกตจากลูกศรด้านหลังกระเบื้อง 
2.5 ตรวจเช็คระดับพื้นที่ที่จะทำการปูกระเบื้องให้ได้ระดับตามความต้องการ ถ้ามากกว่าหรือน้อยกว่าให้ทำการแก้ไข
2.6 ผสมกาวซีเมนต์ตามส่วนและวิธีของผู้ผลิตกาวซีเมนต์ โดยทั่วไป กาวซีเมนต์ 1 ถุง(15-20kg)ต่อน้ำ 3-5ลิตรแล้วแต่ละตราผลิตภัณฑ์ระบุ
2.7 เทกาวซีเมนต์ลงบนพื้นให้เพียงพอสำหรับกระเบื้องที่จะติดตั้ง ใช้เกรียงหวีฟันปลาปาดให้เป็นร่องให้ทั่วรวมถึงบริเวณหลังแผ่นกระเบื้องที่จะติดตั้งด้วย(เบอร์ของหวี แล้วแต่รุ่น ยี่ห้อ กาวซีเมนต์ที่ใช้)จากนั้นนำกระเบื้องปูลงบนกาวซีเมนต์โดยปูตามแนวลูกศรหลังกระเบื้อง เคาะด้วยค้อนยางเบาๆเพื่อให้ได้ระดับ
2.8 ทำการจัดงานแผ่นกระเบื้องและแนวร่องรอยต่อให้อยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีร่องระหว่างรอยต่อ 2-3มม.เมื่อวางแผ่นกระเบื้องเต็มพื้นที่แล้ว ควรปล่อยให้กาวซีเมนต์เซ็ทตัว(ตามกำหนดระยะเวลาของกาวซีเมนต์ที่เลือกใช้)โดยในระหว่างนี้ควรทำความสะอาดกระเบื้องแล้วป้องกันด้วยแผ่นพลาสติก POLYGENE SHEETและกระดาษลูกฟูกหรือไม้อัดตามแต่สภาพหน้างาน เพื่อให้การก่อสร้างส่วนอื่นๆสามารถทำต่อไปได้โดยพื้นผิวไม่เสียหาย
2.9 หลังปูนเซ็ทตัวให้ทำการยาแนวเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกตกค้างตามร่องกระเบื้อง โดยทำความสะอาดรอยต่อของกระเบื้องด้วยการใช้เหล็กแหลมหรือแปรงแข็ง ต่อจากนั้นให้ใช้วัสดุยาแนวอัดให้เต็มแน่นเพื่อไม่ให้มีฟองและโพรงอากาศ หากมีเศษยาแนวล้นออกมาให้เช็ดออกด้วยผ้าหมาดๆก่อนที่จะปูนยาแนวจะแข็งตัว
หมายเหตุ
- การใช้กาวซีเมนต์ควรทำตามวิธีของบริษัท ผู้ผลิตแต่ละยีห้อเท่านั้น โดยสอบถามและศึกษาวิธีใช้ของผู้ผลิตนั้นๆและควรสังเกตุว่ากาวซีเมนต์ที่เลือกใช้หมดอายุหรือยัง โดยปกติกาวซีเมนต์จะมีอายุประมาณ 3 เดือนนับจากวันที่ผลิต การใช้กาวซีเมนต์ที่หมดอายุ อาจจะทำให้กระเบื้องที่ติดตั้งหลุดร่อนได้ในภายหลัง
- ก่อนเปิดใช้งานควรทำความสะอาดคราบ(WAX)โดยใช้ผงขัดแวกซ์ ปูนขาว หรือผงยิปซั่ม ล้างด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำยาทำความสะอาดที่เป็นกลาง ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของกรดต่างๆเช่น กรดไฮคลอริก(กรดเกลือ)กรดไนตริก(กรดดินประสิว)กรดซัลฟิวริก(กรดกำมะถัน)กรดไฮฟลูออริก(กรดกัดกระจก)และไม่ควรใช้สารเคมีประเภทไอโซโพรพิล(แอลกอฮอลล์)ในการทำความสะอาด
 
วิธีการดูแลและทำความสะอาดพื้นกระเบื้อง
วิธีการทำความสะอาดพื้นกระเบื้อง(ประจำวัน)
1.ดูดผุ่นหรือสิ่งสกปรกออกจากพื้นผิวกระเบื้องออกให้สะอาด
2.ใช้ม๊อปดันฝุ่น ผ้าม๊อปต้องสะอาด ฉีดน้ำยาดันฝุ่นลงบนผ้าม็อปให้กระจายทั่วผืนผ้าโดยฉีดพอหมาดๆเสร็จแล้วแขวนผึ่งไว้ให้แห้งอย่างน้อย 3-6 ชั่วโมง หรือฉีดทิ้งไว้ในตอนเย็น เช้าวันรุ่งขึ้นค่อยนำออกมาใช้งานถูพื้น เมื่อถูพื้นแล้วผ้าเริ่มสกปรกควรเปลี่ยนผืนใหม่ทันที ผ้าที่ใช้ถูพื้นควรมีหลายผืนใช้เป็นผ้ารองม๊อปเพื่อความสะดวกในการซักทำความสะอาดผ้า และสามารถเปลี่ยนผ้ารองได้บ่อยตามต้องการ
3. หากพบคราบสกปรกที่ไม่สามารถถูดันฝุ่นปกติออกได้ ให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำถูเฉพาะจุดที่สกปรก หากเช็ดด้วยผ้าชุบน้ำเปล่าไม่ออก ให้ใช้น้ำยาทำความสะอาดผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากสินค้าข้างขวด ใช้ฟองน้ำชุบน้ำยาที่ผสมกับน้ำแล้วเช็ดถูบริเวณที่สกปรก เสร็จแล้วใช้ ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาดๆเช็ดน้ำยาออกให้หมด เพื่อไม่ให้คราบน้ำยาเหนียวติดที่พื้น แล้วใช้ผ้าแห้ง เช็ดตามให้แห้งทันที หากพบเห็นคราบสกปรกให้ทำความสะอาดในทันที ไม่ควรปล่อยไว้นาน จะทำให้คราบฝังแน่นทำความสะอาดยากในภายหลัง
4. ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีส่วนผสมของกรดต่าง ๆ เช่น กรดเกลือ กรดดินประสิว กรดกำมะถัน กรดกัดกระจก และสารเคมีประเภทแอลกอฮอล์ ฯลฯ ในการทำความสะอาด
5. หลีกเลี่ยงการใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดที่มีผิวหยาบและแหลมคม เพื่อป้องกันผิวหน้ากระเบื้อง
วิธีทำความสะอาดพื้นกระเบื้อง(ประจำเดือน)
1.ดูดฝุ่นหรือสิ่งสกปรกออกจากพื้นผิวกระเบื้องให้สะอาด
2.ใช้น้ำยาทำความสะอาดผสมน้ำตามอัตราส่วนที่ระบุในฉลากสินค้าข้างขวด เทน้ำยาที่ผสมน้ำเสร็จแล้วลงในกระบอกฉีดน้ำ จากนั้นฉีดน้ำยาลงบนผิวกระเบื้อง ใช้ผ้า,ฟองน้ำถูทำความสะอาดหรือใช้เครื่องขัดทำความสะอาด เลือกใบขัดแบบอ่อนนุ่มขัดให้ทั่วบริเวณ หากพบคราบสกปรกที่ไม่สามารถขัดออกได้ในครั้งแรกให้ฉีดน้ำยาทิ้งไว้ 20 – 30 นาที ให้น้ำยาละลายคราบฝังแน่นออกก่อน  จากนั้นทำการขัดซ้ำอีกครั้งตรงจุดที่สกปรก
3.ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดพอหมาด ๆ แล้วเช็ดน้ำยาทำความสะอาดออกจากพื้น จากนั้นใช้น้ำสะอาดล้างพื้นอีกครั้งเพื่อให้น้ำยาออกจากพื้นให้หมดไม่ให้เหลือคราบเหนียวติดที่พื้น
 4.ใช้ไม้ม็อปยาง รีดน้ำออกจากพื้นให้หมด แล้วใช้ผ้าแห้งเช็ดพื้นให้สะอาด แห้งทันที
หมายเหตุ
- การทำความสะอาดประจำเดือน อาจจะทำทุก 1 เดือน  3 เดือน หรือ 6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพหน้างานดูตามความเหมาะสม ว่าควรจะทำภายในกี่เดือน
- ทุกครั้งที่ทำความสะอาดวิธีเปียกด้วยน้ำยา ต้องล้างน้ำยาออกให้หมด แล้วเช็ดพื้นให้แห้งทันที